สวัสดีสัปดาห์เทศกาลไหว้พระจันทร์ครับ
บก. ขวัญ มาแล้ว ช่วงนี้วนเวียนอยู่กับของกินตลอด ๆ - -“ นี่ก็ใกล้ถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์อีกปีแล้ว วันนี้เลยถือโอกาสเอาเรื่องของขนมไหว้พระจันทร์มาฝากกันครับ
หลายคนคงรู้จักขนมไหว้พระจันทร์กันดี ด้วยรูปลักษณ์กลมแบน สีน้ำตาลนวล แถมกลิ่นหอม ๆ มีหลากหลายไส้ ชวนให้ลิ้มลอง นับเป็นเอกลักษณ์ของขนมในเทศกาลนี้เป็นอย่างดี
ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า เยวี่ยปิ่ง (月餅) และมีชื่ออย่างภาษาฝรั่งว่า Mooncake ขนมไหว้พระจันทร์นี้ ในสมัยโบราณเป็นของกินที่ใช้เซ่นไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่เรียกว่า เทศกาลจงชิว (中秋節) แปลความตามอักษรได้ว่า เทศกาลกลางฤดูสารท หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
กล่าวกันว่าประเพณีการกินขนมไหว้พระจันทร์ในเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้นเริ่มในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) ขนมไหว้พระจันทร์ไม่เพียงเป็นที่นิยมมากในเขตพระราชฐาน แต่ยังแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไปด้วย เรื่อยมาถึงราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ของชาวมองโกล การกินขนมไหว้พระจันทร์ก็ยังคงเป็นที่นิยมถึงปัจจุบัน
ขนมไหว้พระจันทร์แต่เดิมใช้ขนมเปี๊ยะ ยังไม่มีรูปร่างอย่างขนมไหว้พระจันทร์ที่เราเห็นในปัจจุบัน จึงมีรูปแบบและชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อย่าง ขนมไหว้พระจันทร์แบบซูโจว (蘇式月餅) ที่มีลักษณะคล้ายขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมไหว้พระจันทร์แบบเฉาโจว (潮式月餅) หรือเรียกขนมเปี๊ยะแต้จิ๋ว ที่มีลักษณะคล้ายขนมเปี๊ยะที่มีเนื้อแป้งร่วนเป็นชั้น ๆ หรือ ขนมไหว้พระจันทร์แบบกว่างตง (廣式月餅) หรือเรียกขนมเปี๊ยะกวางตุ้ง ที่มีรูปร่างคล้ายขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันมากที่สุด
แม้ขนมไหว้พระจันทร์จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ มีรูปร่างกลม ดังนั้น ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ สื่อถึงการที่ผู้คนได้กลับมาอยู่ร่วมกัน การทานขนมไหว้พระจันทร์ที่มีรสชาติหอมหวานในเทศกาลนี้ จึงหมายถึงการที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาและรักใคร่ปรองดองกันนั่นเอง นอกจากนี้ ขนมไหว้พระจันทร์ยังมีตำนานที่ทำให้เกิดสันติสุขและอิสรภาพอยู่เรื่องหนึ่ง ผมก็ขอเล่าฝากกันดังนี้
เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ซ่ง ชาวมองโกลเข้าใกล้รุกรานแผ่นดินจีนภาคกลาง (จงหยวน) และปกครองประเทศจีน ก่อตั้งเป็นราชวงศ์หยวนขึ้น (元朝 ค.ศ. 1279-1368) เพื่อป้องกันการกระด้างกระเดื่องของชาวบ้าน จึงส่งหทารมองโกลให้ประจำอยู่ทุกบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านรวมกลุ่ม ติดต่อกัน ต่อต้านได้
ในปีหนึ่งก่อนวันเทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งแอบลักลอบมาชุมนุมกันได้สำเร็จที่นอกเมือง พวกเขานัดแนะเวลาในการก่อกบฏฆ่าพวกทหารมองโกลในวันไหว้พระจันทร์ตอนยามสาม โดยเขียนข้อความนัดให้ลงมือในกระดาษแล้วยัดใส่ขนมไหว้พระจันทร์ นำไปแจกจ่ายให้ทั่ว โดยกำชับว่าต้องตัดแบ่งขนมออกเพื่อรับประทาน ทุกบ้านที่ได้รับแจกขนมไหว้พระจันทร์ต่างได้รับข้อความที่อยู่ในขนมทั้งสิ้น และทหารมองโกลก็ไม่ได้สงสัยเลยแม้แต่น้อย ยามสามคืนนั้น ทหารมองโกลก็ถูกกำจัดทุกบ้านไม่มีเหลือ ชาวบ้านจึงได้รับอิสระอีกครั้ง ภายหลัง เพื่อรำลึกถึงความปีติยินดีที่ได้รับอิสรภาพและสันติสุข ผู้คนจึงรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลนี้เรื่อยมา
ขนมไหว้พระจันทร์ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน มีการปรับเปลี่ยนอย่างไม่หยุดยั้ง จนค่อย ๆ กลายเป็นขนมไหว้พระจันทร์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ที่มีไส้มากมายหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไส้ทุเรียน ไส้โหงวยิ้ง (五仁 ธัญญาพืช 5 อย่าง) ไส้พุทรา ไส้ลูกบัว ไส้ถั่วแดง แม้แต่เดี๋ยวนี้ ไส้ชาเขียว หรือ ขนมไหว้พระจันทร์ที่ทำจากไอศกรีม ก็ยังมี เรียกว่าใครชอบแบบไหน ก็เลือกซื้อหามาไหว้ มาบริโภคกันแบบนั้น
นี่แหละครับ ขนมไหว้พระจันทร์ที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นที่ชื่นชอบของทุกเพศทุกวัย ทุกฐานะในสังคม ตั้งแต่ชาววังยันชาวบ้าน เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมและประเพณี ที่สืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย หากพิจารณาดูให้ดี แค่ของกินเพียงหนึ่งยังมีที่มาที่น่าสนใจถึงเพียงนี้ ทำให้เรารู้ว่า เรื่องจีน ๆ ยังมีอะไรอีกมาก สำหรับผู้ที่สนใจเทศกาลอื่น ๆ ของจีน ก็ติดตามกันได้ใน ต้นกำเนิดเทศกาลจีน โดย โกห์ ไป กิ ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจครับ
สำหรับวันนี้ “อยากรู้เรื่องจีน นึกถึงสุขภาพใจ” ต้องขอตัวไปหาซื้อขนมไหว้พระจันทร์ก่อน แล้วพบกันใหม่ครับ...บ๊าย บาย
หนังสือที่เกี่ยวข้อง
![]() |
ต้นกำเนิดเทศกาลจีน ประพันธ์โดย โกห์ ไป กิ ราคา 200.00 บาท |