ตรีลักษณ์ทั้งแปดกับเลขฐานสอง - Book Time: be wise in time
บทความ

ตรีลักษณ์ทั้งแปดกับเลขฐานสอง
8/8/2559 โดย บก. ขวัญ
แชร์: line

สวัสดียามเช้าครับ ผม บก. ขวัญ มาแล้ว

วันนี้ “อยากรู้เรื่องจีนนึกถึงสุขภาพใจ” นำสาระดี ๆ น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องจีน ๆ มาฝากกันอีกเช่นเคย

เรื่องวันนี้ดูชื่อแล้วอาจสงสัยว่าคืออะไร อะไรคือ “ตรีลักษณ์ทั้งแปด” อะไรคือ “เลขฐานสอง” สำหรับบางคนอาจพอรู้จักอยู่บ้าง อย่างน้อยก็รู้จัก “เลขฐานสอง” หรือเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่ว่า “ตรีลักษณ์ทั้งแปด” นี่สิคืออะไร ? และมันเกี่ยวกับ “เลขฐานสอง” อย่างไร ! ว่าแล้วอย่าให้เสียเวลา ผมเล่าให้ฟังเลยดีกว่าครับ

ก่อนอื่นคงต้องเริ่มที่ “ตรีลักษณ์ทั้งแปด” ก่อน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินหรือรู้จัก “ยันต์แปดทิศ” ที่ติดกันตามประตูบ้านหรือติดกันตรงทางแยกทางแพร่ง ยันต์นี้ตรงกลางมีสัญลักษณ์ อิน-หยาง ล้อมรอบด้วยเส้น ๆ ขีด ๆ เต็มไปหมด บางขีดก็ขีดเต็ม บางขีดก็ขีดขาด เจ้าเส้นขีด ๆ ที่ว่านี่ก็คือ ตรีลักษณ์ทั้งแปด ครับ

ตรีลักษณ์ทั้งแปด เรียกเป็นภาษาจีนว่า ปากว้า 八卦 ประกอบด้วยเส้นขีดขวาง 3 เส้น วางซ้อนกัน หนึ่งเส้น เรียกว่า หนึ่งลักษณ์ มีอยู่ 2 แบบ คือ

1. เส้นเต็ม (—) คือ เส้นขีดยาวไม่ขาด เรียกว่า เส้นลักษณ์หยาง (陽) แทนลักษณะของบุรุษเพศ แสงสว่าง ความแข็ง เลขคี่ ฯลฯ

2. เส้นขาด (- -) คือ เส้นขีดขาดกลาง เรียกว่า เส้นลักษณ์อิน (陰) แทนลักษณะของสตรีเพศ ความมืด ความอ่อน เลขคู่ ฯลฯ

เมื่อขีดเรียงกันสามเส้น จึงเรียกว่า ตรีลักษณ์ โดยตรีลักษณ์แต่ละขีดแทนความหมาย คือ เส้นขีดบนสุดแทนฟ้า เส้นขีดกลางแทนมนุษย์ และเส้นขีดล่างแทนดิน ซึ่ง ฟ้า-ดิน-มนุษย์ นี้ เป็นปรัชญาสำคัญแห่งศาสนาเต๋า ที่เชื่อว่า สรรพสิ่งในจักรวาลนั้นเกิดจากสิ่งทั้งสามนี้

โดยตรีลักษณ์เกิดขึ้นจากการคิดค้นและค้นพบของพระเจ้าฝูซี (伏羲) หนึ่งใน 3 กษัตริย์ 5 จักรพรรดิ (三皇五帝) โบราณของจีน (3 กษัตริย์ หมายถึง พระเจ้าซุ่ยเหริน 燧人 พระเจ้าฝูซี และพระเจ้าเสินหนง 神農 ส่วน 5 จักรพรรดิ หมายถึง จักรพรรดิหวางตี้ 黃帝 จักพรรดิจวนซวี 顓頊 จักรพรรดิตี้คู่ 帝嚳 พระเจ้าเหยา 堯 และ พระเจ้าซุ่น 舜) แต่เดิมพระองค์คิดค้นตรีลักษณ์ขึ้นเพื่ออธิบายสภาวะทั้ง 8 ของธรรมชาติ อันได้แก่ ท้องฟ้า (ขีดเต็มสามเส้น) แผ่นดิน (ขีดขาดสามเส้น) น้ำ (ขีดกลางเต็ม) ไฟ (ขีดกลางขาด) ลม (ขีดล่างสุดขาด) สายฟ้า (ขีดล่างสุดเต็ม) ภูเขา (ขีดบนสุดเต็ม) และหนองน้ำ (ขีดบนสุดขาด) เมื่อวางไล่ลำดับจากขีดเต็ม 3 ขีด สลับกับเส้นขาดไปเรื่อย ๆ จะได้ทั้งหมด 8 ชุด เรียกว่า ตรีลักษณ์ทั้งแปด รวมกันเป็นแผนภูมิแปดทิศอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งแผนภูมิทั้งแปดเป็นจุดกำเนิดของวิชาฮวงจุ้ยและโหราศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ว่าแต่ที่เล่ามาเกี่ยวอะไรกับ “เลขฐานสอง” กัน เรามารู้จักเลขฐานสองกันต่อครับ

เลขฐานสอง (binary numeral system) คือ ระบบเลขที่มีสัญลักษณ์อยู่สองตัวคือ เลข 0 กับเลข 1 ในการคำนวณทางคณิตศาตร์ และมีความหมายโดยนัยหมายถึง สภาวะที่ให้เลือกระหว่าง 2 อย่าง เช่น ซ้ายหรือขวา เปิดหรือปิด ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือเท็จ เป็นต้น

แต่เลขฐานสองถูกพัฒนานำไปใช้ไกลกว่านั้น คือ ในปี ค.ศ. 1701 กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ฟอน ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm von Leibniz) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันพบจุดยืนของหลักมูลฐานของตรีลักษณ์ทั้งแปดกับเลขฐานสองว่ามีจุดที่เหมือนกัน คือ เส้นลักษณ์ขีดบนเป็นเลขหลักแรก เส้นลักษณ์ขีดกลางเป็นเลขหลักที่สอง และเส้นลักษณ์ขีดล่างเป็นเลขหลักที่สาม และแทนเส้นลักษณ์หยางด้วยเลข 1 แทนเส้นลักษณ์อินด้วยเลข 0 จนเกิดเป็นชุดเลข 000 100 010 110 001 101 011 111 ในระบบไมโครโปรเซสเซอร์ หรือที่เรียกกันว่า การประมวลผลแบบดิจิทัล ของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

น่าแปลกใจและน่าคิดนะครับว่า ความรู้และวิทยาการที่ห่างกันนับพัน ๆ ปี อยู่ห่างกันคนละซีกโลก จะมีจุดร่วมของมูลฐานที่เหมือนกัน เพียงแต่พระเจ้าฝูซีนั้น พระองค์รู้ว่ามีระบบความคิดของเลข 0 (เส้นขาด) กับ 1 (เส้นเต็ม) อยู่ เพียงแต่พระองค์นำไปใช้ในเรื่องการทำความเข้าใจระบบจักรวาล ไม่ได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในเรื่องดิจิทัลเท่านั้น จึงอาจเรียกได้ว่า พระองค์ค้นพบ “เลขฐานสอง” มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้วก็คงไม่ผิดนัก...

เป็นอย่างไรครับ เรื่องที่นำมาฝากกันในวันนี้ น่าทึ่งใช่ไหมครับ และหากอยากรู้เรื่องอื่น ๆ ที่ชวนทึ่งกว่านี้อีกละก็ ติดตามได้ใน ต้นกำเนิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน โดย อ. สุกัญญา วศินานนท์ (แปล) ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจครับ

วันนี้ผมขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ครับ ^ ^  

 

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

ต้นกำเนิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน 
ประพันธ์โดย อ. สุกัญญา วศินานนท์
ราคา 200.00 บาท


บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Posts

Other Online Stores:

Lazada   Shoppee

บริษัท BOOK TIME จำกัด
Email: cs@booktime.co.th

เลขที่ 214 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 ถนนพระราม 2
แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02 415 2621, 02 415 6507
แฟกซ์. 02 416 7744