สวัสดีครับ ตื่นมาวันนี้หอมกลิ่นบ๊ะจ่างแต่เช้า นี่เป็นสัญญาณแสดงว่าถึงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างอีกปีแล้ว >< สำหรับคนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นกับเจ้าก้อนข้าวที่มีเครื่อง อาทิ กุนเชียง ไข่เค็ม หมูสามชั้น หรือบ้างก็มีลูกแป๊ะก้วย เผือกกวน ห่ออยู่ในใบไผ่หรือใบจ่างนึ่งร้อน ๆ แต่สำหรับชาวจีนแล้ว อาหารชนิดนี้เป็นที่รู้จักดี เพราะเป็นของกินที่ต้องแลกมาด้วยความรำลึกถึงกันทีเดียว ว่าแต่รำลึกถึงอะไร ผม บก. ขวัญ ขออนุญาตเล่าให้อ่านกันครับ
ทุกวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน คือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง แต่หากจะเรียกอย่างผู้เป็นปัญญาชนในจีนเขาก็จะเรียกว่า เทศกาลตวนอู่ 端午節 และชาวตะวันตกเรียกเทศกาลนี้ว่า Dragon Boat Festival เทศกาลแข่งเรือมังกร ซึ่งก็คือชื่อเรียกอีกชื่อของเทศกาลนี้ แล้วบ๊ะจ่างกับการแข่งเรือมังกรมาเกี่ยวอะไรกัน ?
ก็ต้องเริ่มจาก ในสมัยชุนชิว 春秋 มีขุนนางสัตย์ซื่อผู้หนึ่งนามว่า ชวีเหวียน (屈原 342-278 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของฉู่ไหวอ๋อง 楚懷王 แห่งแคว้นฉู่ 楚國 เขาเป็นคนในตระกูลสำคัญและสูงศักดิ์หนึ่งในสามตระกูล ที่มีอำนาจร่วมในราชสำนัก ตลอดเวลาที่รับราชการ ก็ซื่อตรง จงรักภักดี เหตุนี้ จึงเป็นที่ขัดใจของเหล่ากังฉินในราชสำนักเป็นอันมาก จึงหาทางเพ็ดทูลให้ร้ายชวีเหวียนอยู่บ่อยครั้ง น้ำหยดลงหินทุกวันหินยังกร่อน ฉู่ไหวอ๋องก็เริ่มเอนเอียงไป จนมาวันหนึ่ง ความเป็นพันธมิตรของแคว้นฉิน 秦國 กับแคว้นฉู่สิ้นสุดลง ฉินประกาศทำสงครามกับฉู่ วางอุบายให้ฉู่ไหวอ๋องเดินทางไปเจรจาการศึกที่แคว้นฉินด้วยตัวเอง ชวีเหวียนคัดค้านการเดินทางอย่างเต็มที่แต่ไม่เป็นผล ท้ายสุด ฉู่ไหวอ๋องถูกจับและสวรรคตใน 3 ปีต่อมา พระโอรสฉิ่งเซียงอ๋อง 楚頃襄王 ขึ้นครองราชย์ต่อ จื่อหลาน 子蘭 พระอนุชา (น้องชาย) ได้เป็นอัครเสนาบดี จื่อหลานใส่ร้ายชวีเหวียนจนฉิ่งเซียงอ๋องมีพระบัญชาให้เนรเทศชวีเหวียนพ้นจากแคว้นฉู่
เมื่อไม่รู้จะทำเช่นใด ชวีก็ได้แต่แต่งกวี หลีเซา 《離騷》ระบายความโศกเศร้า อันเป็นกวีนิพนธ์ที่เลื่องชื่อในเวลาต่อมา ปี 278 ก่อนคริสต์ศักราช ทัพฉินยึดครองเมืองหลวงของแคว้นฉู่ได้ ข่าวทราบไปถึงชวีเหวียน ก็ยิ่งทำให้เขาทุกข์ระทมมากเป็นทวี ในวันที่ 5 เดือน 5 ของปีนั้น ชวีเหวียนตัดสินใจใช้กระแสน้ำฝังร่างตัวเองที่แม่น้ำป๋อหลัว 泊羅江 เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันตามหาศพของเขาด้วยความอาลัยรัก แต่ไม่ว่าจะทั้งงมทั้งค้นอย่างไรก็หาไม่พบ ชาวบ้านเกรงว่าพวกสัตว์น้ำในแม่น้ำจะมากัดกินศพ จึงเอาข้าวห่อในใบไผ่แล้วโยนลงน้ำ เพื่อให้มากัดกินแทน
เมื่อถึงวันครบรอบวันเสียชีวิตของชวีเหวียน ชาวบ้านก็จะนำข้าวห่อในใบไผ่มาทิ้งลงแม่น้ำป๋อหลัว จนมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า วันหนึ่ง มีคนฝันเห็นชวีเหวียนมาหาเขาแล้วกล่าวขอบคุณชาวบ้าน พร้อมทั้งบอกว่า อาหารที่โยนลงไปให้นั้นเขาได้รับแล้ว แต่พวกปลาก็ยังมาแย่งไปกินอยู่ ทำให้กินไม่ค่อยอิ่ม จึงแนะให้ชาวบ้านตกแต่งเรือเป็นรูปมังกรล่องไปเวลาโยนอาหารลงในน้ำ พวกปลานึกว่าเป็นอาหารสำหรับเซ่นพญามังกร ก็จะไม่กล้ามาแย่งกินอีก ชาวบ้านทำตามที่ได้ยินคำแนะนำนั้น
ดังนั้น ทุกปี ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านจึงแต่งเรือเป็นรูปมังกรนำมาล่องเพื่อโยนห่อข้าวลงแม่น้ำ แต่ต่อมาก็นำมาพายแข่งกันเป็นประเพณีที่สนุกสนาน และข้าวที่ห่อด้วยใบไผ่นี้ ชาวบ้านเรียกว่า บ๊ะจ่าง 粽子 (เรียก จ้งจึ ในภาษาจีนกลาง) ก็เป็นที่นิยมกินกันแพร่หลายในเทศกาลนี้ด้วยนับแต่นั้น
เป็นอย่างไรครับที่เล่ามา เรียกได้ว่า บ๊ะจ่างเป็นของกินที่รำลึกถึงชวีเหวียนด้วยความอาลัยรักโดยแท้ใช่ไหมครับ “คนดีสัตย์ซื่อย่อมเป็นที่รักของผู้คนทั่วไป ตายแล้วก็ยังมีคนนึกถึง ผิดกับคนเลวคดโกงย่อมเป็นที่เกลียดชังของผู้คนทั่วไป ตายแล้วก็มีแต่คนก่นด่าสาปแช่ง” เห็นด้วยกับผมไหมครับ
เทศกาลจีนนั้น ยังมีอีกหลายเทศกาลที่สนุกและน่าสนใจ ติดตามต่อได้ใน ต้นกำเนิเทศกาลจีน โดย โกห์ ไป กิ ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจครับ
อยากรู้เรื่องจีน นึกถึงสุขภาพใจ
วันนี้เล่ามาซะยาว หิวละขอตัวไปหาบ๊ะจ่างกินก่อน แล้วพบกันครับ ^^
หนังสือที่เกี่ยวข้อง
![]() |
ต้นกำเนิดเทศกาลจีน ประพันธ์โดย Goh Pei Ki ราคา 150.00 บาท |