ข่าวลือ ข่าวปล่อย
ไม่เพียงแต่ พ.อ. วินธัย สุวารี ไม่เพียงแต่ พ.อ. หญิงศิริจันทร์ ธูปทอง ไม่เพียงแต่ พ.อ. วีรชน สุคนธปฏิภาค จะแสดงความวิตกจะแสดงความกังวลต่อกระบวนการ “ข่าวลือ” ต่อกระบวนการ “ข่าวปล่อย”
ร้ายแรงถึงขนาด “ขณะนี้ในสังคมออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข้อความหรือคลิปที่พยายามทำให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารลุแก่อำนาจ”
พร้อมกับยกตัวอย่าง
“เช่นคลิปของบุคคลแต่งกายคล้ายทหารเข้าไปในร้านสะดวกซื้อเพื่อข่มขู่เอาสินค้าหรือสิ่งของ รวมไปถึงคลิปของบุคคลแต่งกายคล้ายทหารใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน เป็นต้น”
เป้าหมายคือ ดิสเครดิต “ทหาร” เป้าหมายคือ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อ “ทหาร” นำไปสู่ความเชื่อมั่น ไม่ศรัทธา ไม่ไว้วางใจ
นี้ย่อมเป็นปฏิบัติการในทาง “จิตวิทยา” อย่างแน่นอน
เป็นปฏิบัติการจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยทางการทำ “รัฐประหาร” เป็นปฏิบัติการจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารเข้ามาแสดงบทบาทในทางการเมือง
อาศัย “ข่าวลือ” อาศัย “ข่าวปล่อย” เป็นเครื่องมือ
สงคราม คือ การใช้เล่ห์ เพทุบาย
ทุกอย่างดำเนินไปตามกลศึกอันปราชญ์ทางการทหารซุนวูได้รจนาเอาไว้ ไม่ว่าจะเรียกว่ายุทธศาสตร์ คือวิชาเล่ห์เหลี่ยม แต้มคู
หรือที่บางท่านเรียกว่า การทำสงครามคือวิถีแห่งกุศโลบาย
หรือที่บางท่านเรียกอย่างรวบรัดว่า อันสงครามนั้น คือ การใช้เล่ห์ เพทุบาย
คนที่อ่านยุทธนิยายเรื่องสามก๊กมีความโน้มเอียงที่จะแบ่งแยกและเปรียบเทียบระหว่าง 2 ฝ่าย
ประหนึ่งว่า โจโฉ และสุมาอี้มากด้วยเหลี่ยมเล่ห์และเพทุบาย
ประหนึ่งว่า เล่าปี่ ขงเบ้ง ยืนหยัดอยู่ในความซื่อสัตย์เปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีเลิศประเสริฐศรี
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เมื่อเข้าสู่การสู้รบก็เหมือนๆ กัน
เพราะว่ากลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็ไม่แตกต่างกัน คือ การใช้เล่ห์เพทุบาย ฉะนั้น รบได้ให้แสดงรบไม่ได้ จะรุกให้แสดงไม่รุก ใกล้ให้แสดงไกล ไกลให้แสดงใกล้ ให้ล่อด้วยประโยชน์ ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย
ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกรบเมื่อไม่คาดคิด
ศึกษาสามก๊ก ศึกษาขงเบ้ง
จึงพลันที่ขงเบ้งทราบว่าสุมาอี้มาครองเมืองเสเหลียง “แม้ซ่องสุมทหารได้มากนานไป เห็นจะเป็นภัยอย่างมหันต์ต่อเมืองเรา เราจึงควรแยกไปปราบมันเสียก่อน”
เหตุผลเพราะ “สุมาอี้ผู้นี้มีสติปัญญาหลักแหลมนัก”
ได้ฟังดังนั้น ม้าเจ๊กจึงทัดทาน “ท่านเพิ่งยกทัพไปกำราบเมืองใต้เพิ่งกลับมาใหม่ๆ ทหารยังอิดโรยอยู่ ควรสงวนกำลังไว้ก่อน ไฉนจึงจะยกไปทำศึกทางไกลเล่า ข้าพเจ้ามีอุบายที่จะทำให้สุมาอี้ตายด้วยน้ำมือของโจยอย”
อุบายนั้นเป็นอย่างไร
“มาตรว่าสุมาอี้จะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่ก็หาเป็นที่ไว้วางใจของโจยอยไม่ ทำไมท่านไม่ลอบส่งคนไปยังเมืองลั่วหยางแลหัวเมืองต่างๆ ปล่อยข่าวเล่าลือและปิดประกาศว่าสุมาอี้คิดขบถ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้โจยอยเกิดระแวงสงสัย จะต้องคิดอ่านสุมาอี้เสียเป็นแน่”
เมื่อประกาศนี้ตกไปถึงมือพระเจ้าโจยอย ชะตาของสุมาอี้ก็ขาด จากขุนนางใหญ่ก็ถูกปลดออกเป็นไพร่
เป้าหมายของขงเบ้งก็ลุล่วงด้วยกลยุทธ์ปล่อยข่าวของม้าเจ๊ก
ในยุคสามก๊ก การปล่อยข่าวเสมอเป็นเพียงปากต่อปาก หรือติดประกาศ แต่ในยุคแห่งศตวรรธที่ 21 กระบวนการปล่อยข่าวอยู่ในสังคมออนไลน์
การศึกมิหน่ายเล่ห์ การศึกยุคอินเตอร์เน็ต
กลยุทธ์ของ “กลุ่มพอกันที” หลังจากชุมนุมยกป้าย ล่าสุดคือการเสนอแนวทาง “พูดไม่ได้ ไม่พูดก็ได้ เขียนก็ได้ ไม่เขียนก็ได้” นั่นก็คือกลยุทธ์ ชวนกันมาชู “กระดาษเปล่า”
เช่นเดียวกับมีการเชิญชวน “กินแมคต้านรัฐประหาร” เช่นเดียวกับมีการเชิญชวน “สวมหน้ากากแสดงการเฉลิมฉลองรัฐประหาร”
นี่เป็นยิ่งกว่าการปล่อยข่าว นี่เป็นยิ่งกว่ายุทธการ “ข่าวลือ”
เป็นการย้อนแย้งในลักษณะตีกลับ เป็นการแปรสิ่งที่ไม่มีให้บังเกิด “มี” เป็นการสร้างสิ่งที่ไร้ให้บังเกิด “ไม่ไร้”
ดำเนินตามกลยุทธ์เต๋าในแบบ “อ-กรรม”
น่าเห็นใจ คสช. อย่างยิ่ง น่าเห็นใจหน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นของ กอ.รมน. เพราะรากฐานการประท้วงซึ่งปรากฏโดยเฉพาะใน กทม. มิได้มาจากเสื้อแดงในความเข้าใจเดิม หากแต่มาจากคนชั้นกลาง
คนชั้นกลางที่อยู่กับเทคโนโลยีใหม่ คนชั้นกลางที่ต้องการสิทธิเสรีภาพเหมือนกับเป็นลมหายใจของตน
กระบวนการจึงต่างไปจากขงเบ้ง ต่างไปจากยุคสุมาอี้
หนังสือที่เกี่ยวข้อง
![]() |
สามก๊ก สำนวนพระยาพระคลัง(หน)ราชบัณฑิตยสภาชำระ
ประพันธ์โดย เจ้าพระยาพระคลัง(หน) |
![]() |
สามก๊ก ฉบับแปลใหม่
แปลโดย วรรณไว พัธโนทัย |
![]() |
พิชัยสงครามสามก๊ก
ประพันธ์โดย |
![]() |
สามก๊ก ฉบับภาพบุคคลพร้อมประวัติ
ประพันธ์โดย สุภาณี ปิยพสุนทรา |
![]() |
กลศึกพิสดารในสามก๊ก
ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี |
![]() |
สามก๊ก ฉบับนำร่อง
ประพันธ์โดย วัชระ ชีวะโกเศรษฐ |
![]() |
ศิลปะการใช้กลยุทธ์ในสามก๊ก
ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี |
![]() |
บริหารงานด้วยกลยุทธ์สามก๊ก
ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี |
สั่งซื้อทาง webmaster@booktime.co.th
ลดทันที 10% พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน