สามก๊กควรอ่านฉบับไหนก่อนดี - Book Time: be wise in time
บทความ

สามก๊กควรอ่านฉบับไหนก่อนดี
14/5/2557 โดย บก. ขวัญ
แชร์: line

          เป็นคำถามที่ถูกถามกันบ่อยครั้ง จากผู้ที่สนใจวรรณคดีเรื่องเด่นเรื่องเยื่ยมนี้ แต่ก่อนที่จะตอบคำถามที่ว่านี้ เราคงต้องทำความเข้าใจและรู้จักกับ สามก๊ก กันสักหน่อย ว่าทำไมวรรณคดีเรื่องนี้จึงยอดเยี่ยมจนทำให้มีการพิมพ์กันออกมามากมายจนเกิดคำถามที่ว่า “ควรอ่านฉบับไหนก่อนดี”

          เนื่องด้วยเมืองไทยเรานั้นมีอยู่หลากหลายฉบับ หลายสำนวน ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าคนไทยไม่ค่อยรู้ภาษาจีน สามก๊กฉบับที่เราอ่านแพร่หลายที่สุดคือฉบับนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรียกว่า ซานกว๋อเอี่ยนอี้ ส่วนคนจีนอ่านฉบับที่เป็นประวัติศาสตร์จดหมายเหตุ เรียกว่า ซานกว๋อจื้อ คนไทยจึงอ่านต่างจากคนจีนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์จีน แต่คนจีนอ่านแบบรู้ประวัติศาสตร์ด้วย เมื่อเขารู้ทั้งฉบับนิยายและเรื่องจริง เขาจึงแยกได้ว่าเรื่องไหนจริงเป็นประวัติศาสตร์ เรื่องไหนเป็นเรื่องบันเทิงเริงรมย์

          ในเมืองไทย สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นฉบับที่แพร่หลายที่สุดและตั้งใจให้ทหารใช้ศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดตั้งแต่ต้น เพราะเอาเรื่องนิยายอ่านเล่นมาให้กองทัพไทยร่ำเรียน ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องยกให้สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังนี้ เป็นที่โดดเด่นด้านวรรณศิลป์ที่สุด

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนไทยก็รู้จักสามก๊กแล้ว ด้วยเหตุที่ชาวจีนมาอยู่ในอยุธยาเยอะ และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมรวมถึงสามก๊กเข้ามาด้วย เมื่อรัชกาลที่ 1 ฟื้นฟูประวัติศาสตร์ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้แปลเป็นเรื่อง วรรณกรรมแปลเป็นเรื่องจึงมีทั้งที่มาจากอินเดีย เปอร์เซีย และจีน โดยเริ่มแปลจากหนังสือใกล้ตัว อย่างแปล ราชาธิราช จากภาษามอญ แปล ไซ่ฮั่น สามก๊ก จากจีน เรื่องสามก๊กและไซ่ฮั่นได้รับความชื่นชมมาก เพราะผู้แปลคือเจ้าพระยาพระคลังและวังหลังเก่งด้านวรรณศิลป์ทั้งคู่ วังหลังมีกวีครูของสุนทรภู่เป็นที่ปรึกษา กวีของเจ้าพระยาพระคลังก็ยอดเยี่ยมหลายเรื่อง

          งานแปลสืบเนื่องมาถึงยุครัชกาลที่ 5 เรื่องสุดท้ายที่แปลคือ ห้องสิน อำนวยการแปลโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่สำนวนนั้นสู้สมัยก่อนไม่ได้ หลังจากนั้นเรื่องแปลก็ค่อย ๆ หมดลง จึงนำเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาลงพิมพ์ และหันไปนิยมวรรณกรรมฝรั่งพักใหญ่ เรื่องจีนจึงค่อยกลับมาด้วยนิยายบู๊ลิ้มอย่างในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใด สามก๊ก ก็นับได้ว่ายังอยู่ในใจคนไทยเสมอมา

          สำหรับผู้ที่สนใจสามก๊กแต่ไม่รู้จะเริ่มอ่านจากฉบับไหนก่อนดีนั้น ต้องถามใจตัวเองก่อนว่า เราต้องการอ่านสามก๊กเพื่ออะไร อ่านเพื่อเอาเรื่อง อ่านเพื่อเอาเรื่องทางประวัติศาสตร์ หรืออ่านเพื่อเอาสำนวนวรรณศิลป์ด้วยเหตุที่ในปัจจุบัน มีผู้จัดพิมพ์สามก๊กออกมากันมากมายแพร่หลาย ผู้ที่สนใจก็ไม่รู้ทิศทางที่จะเริ่ม ไม่รู้ว่าฉบับไหนดีควรอ่านก่อนหลังกัน จึงขอแนะนำไว้เป็นแนวทางกว้าง ๆ ใครใคร่สนใจทางใดก็จะได้เลือกได้ถูกใจทางนั้น

          สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นฉบับแรกเริ่มที่คนไทยรู้จัก โดดเด่นทั้งด้านวรรณศิลป์และวรรณกรรม ถือได้ว่าเป็นฉบับครูของสามก๊กอีกหลายฉบับในเมืองไทย ถึงแม้ว่าสำนวนภาษาไทยโบราณสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะอ่านยากสำหรับคนสมัยใหม่ แต่กลับได้รับอรรถรสทางวรรณศิลป์อย่างประหลาดที่หาได้ยากยิ่งจากหนังสือในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าจะมีการตัดหลายๆเหตุการณ์ในเรื่องออกเพื่อความเหมาะสมกับบริบทในยุคสมัยที่แปล สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ตอบสนองกับความต้องการในการอ่านสามก๊กเพื่อเอาวรรณศิลป์ได้อย่างแท้จริง


หมวดสามก๊ก

          สามก๊ก ฉบับแปลใหม่ ของวรรณไว พัธโนทัย เป็นอีกหนึ่งฉบับที่อยากแนะนำที่สุดสำหรับผู้เริ่มอ่านสามก๊ก เพราะใช้ภาษาปัจจุบันทำให้อ่านเข้าใจง่าย เนื้อหาครบความจนสามารถใช้อ้างอิงในเชิงวรรณกรรมได้ เพราะความโดดเด่นของสามก๊กฉบับนี้ อยู่ที่การแปลตรงตัวโดยไม่บิดเบือนไปจากต้นฉบับเดิมเลย แปลจากฉบับภาษาจีนของ หลอก้วนจง ที่ประพันธ์ไว้ 120 บท ก็แปลครบถ้วน 120 บทเช่นกัน เรียกได้ว่า ภาษาจีนบรรทัดแรกเขียนอย่างไรก็แปลตามทีละบรรทัดอย่างนั้น จึงถือได้ว่าตอบสนองความต้องการในการอ่านสามก๊กเพื่อเอาเรื่องอย่างแท้จริง


สามก๊ก ฉบับแปลใหม่

ประพันธ์โดย
ราคา 1,250.00 บาท 1125 บาท

          สามก๊ก ฉบับวณิพกพก ของยาขอบ เป็นอีกหนึ่งฉบับที่คนไทยรู้จักกันแพร่หลาย สามก๊กฉบับนี้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากสองฉบับแรกตรงที่นำเอาตัวละครที่มีชื่อเสียงในเรื่องจำนวน 10 กว่าตัว มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ใช้สำนวนที่อ่านสนุกอย่างฝรั่ง ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งตัวละครที่เอาแบบอย่างตะวันตก คือ มีลอร์ด มีมาร์ควิส เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบอ่านเรื่องแบบยาว ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะสามารถเลือกได้ว่าจะอ่านตัวละครใดก่อนก็ได้ เมื่ออ่านไปแล้วจะเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากันได้เอง รู้เรื่องสามก๊กเหมือนกัน

          สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านสามก๊กแบบเอาประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกได้ว่า สามก๊กทุก ๆ ฉบับ มีเรื่องของประวัติศาสตร์อยู่ทั้งสิ้น เพียงแต่ต่างกันตรงที่ สามก๊กที่เป็นนิยาย ไม่ว่าจะเป็นฉบับเจ้าพระยาพระคลัง ฉบับแปลใหม่ หรือฉบับวณิพก ล้วนมาจากฉบับนิยายที่เป็น ซานกว๋อเอี่ยนอี้ ซึ่งมีเค้าความจริงทางประวัติศาสตร์อยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นทั้งสิ้น แต่ถ้าต้องการฉบับที่เป็นความจริง 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่แต่งหรือบิดเบือน ก็แนะนำให้อ่าน ซานกว๋อจื้อ ฉบับภาษาจีน เรียกเป็นไทยได้ว่า จดหมายเหตุสามก๊ก แต่ที่น่าเสียดายคือ ในเมืองไทยยังไม่มีผู้แปลฉบับนี้จำหน่าย

          นอกจากนี้ หนังสือสำหรับผู้ที่สนใจสามก๊กหรือผู้เป็นแฟนสามก๊กควรอ่านควรมี ที่คุณทองแถม นาถจำนงแนะนำ เรียกว่าเป็น 4 คลาสสิกแห่งสามก๊ก ก็คือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง สามก๊ก ฉบับวณิพก ของยาขอบ สามก๊ก ฉบับนายทุน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนล้อฉบับของยาขอบ โดยมองมุมมองตรงกันข้าม อย่างยกย่องฝ่ายเล่าปี่มากกว่าฝ่ายโจโฉ และ พิชัยสงครามสามก๊ก ฉบับบูรณาการ ของคุณสัง พัธโนทัย ซึ่งเป็นท่านแรกที่ทำแผนที่และภูมิศาสตร์ของสามก๊ก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดมากที่คนไทยอ่านสามก๊กกันโดยที่ไม่รู้จักภูมิศาสตร์ ไม่รู้ว่าภูเขานี้เมืองนี้อยู่ตรงไหน แต่ก็ยังอ่านสนุกกันอยู่ พร้อมปทานุกรมชื่อตัวละครและชื่อสถานที่ในตอนท้ายเล่ม นับว่าช่วยคนไทยที่อ่านสามก๊กได้มาก


พิชัยสงครามสามก๊ก

ประพันธ์โดย
ราคา 500.00 บาท 450 บาท

          ถึงตรงนี้ถ้าจะให้สรุปฟันธงว่าควรอ่านฉบับใด ก็ต้องตอบว่า สามก๊ก เป็นหนังสือที่ดีทุกเล่ม ไม่มีฉบับใดด้อยไปกว่ากัน อยู่ที่เราต้องการเข้าถึงหรือศึกษาไปในทิศทางใด 



Other Online Stores:

Lazada   Shoppee

บริษัท BOOK TIME จำกัด
Email: cs@booktime.co.th

เลขที่ 214 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 ถนนพระราม 2
แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02 415 2621, 02 415 6507
แฟกซ์. 02 416 7744