สามก๊ก วรรณกรรมในดวงใจ - Book Time: be wise in time
บทความ

สามก๊ก วรรณกรรมในดวงใจ
16/5/57 โดย บก. ขวัญ
แชร์: line

          พูดถึง สามก๊ก หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจากสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ บ้างก็เคยอ่านเคยผ่านตา บ้างก็ได้ยินเพียงแค่ชื่อ แต่ถึงอย่างนั้นในวงการบรรณพิภพ สามก๊ก ยังคงเป็นวรรณกรรมในดวงใจนักอ่านเรื่อยมา แล้วเพราะเหตุใดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น  

          คำตอบของเรื่องนี้คงมาจากเหตุปัจจัยหลักที่เห็นได้ชัด 2 ประการ ประการแรก สามก๊กเป็นหนึ่งในสี่ยอดวรรณคดีเอกของจีน ที่ประกอบด้วย สามก๊ก ไซอิ๋ว สุยหู่ คนไทยรู้จักในนาม 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน และ หงโหลวเมิ่ง ที่คนไทยเรียกว่า ความฝันในหอแดง ผู้คนเกือบค่อนโลกต่างรู้จักสามก๊กเป็นอย่างดี มีการแปลที่หลากหลายมากกว่า 10 ภาษา ด้วยสามก๊กเป็นเรื่องเด่นทางการเมืองการทหาร แฝงไว้ด้วยเล่ห์เลี่ยมอันแพรวพราว 

          ประการที่สองที่นับว่าเป็นเหตุสุดสำคัญที่ทำให้สามก๊กเป็นวรรณกรรมในดวงใจ เพราะสามก๊กทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ไม่รู้จบ !

          หลอก้วนจง ผู้แต่งสามก๊กเป็นคนปลายยุคราชวงศ์หมิง มีชีวิตอยู่ช่วงสมัยต้นอยุธยา แต่เหตุการณ์ในเรื่องสามก๊กเกิดในราชวงศ์ฮั่นก่อนหน้าหลายร้อยปี ความจริงแล้วหลอก้วนจงสืบมรดกอันยอดเยี่ยมมาจากของเก่าอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่เป็นผู้สร้างขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เขาอาศัยการแต่งจากฐานเดิมคือจดหมายเหตุซานกว๋อจื้อ และในซานกว๋อจื้อนี้ก็มีผู้ที่อยากแสดงความรู้อยู่มากมาย จึงได้เขียนหมายเหตุของตนลงไปด้วย เมื่อมีหมายเหตุมาก ก็ได้เกร็ดเพิ่มมาก ผู้คนจึงได้รับรู้กันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับจีนสามารถแกะแม่พิมพ์บนไม้ได้ ก็ยิ่งเผยแพร่ได้เป็นร้อยเป็นพันเล่ม ไม่ต้องเขียนทีละเล่มเหมือนใบลานในสมัยก่อนของไทย การพิมพ์หนังสือจึงช่วยให้สังคมปฏิวัติเปลี่ยนแปลงได้มาก อย่างกูเต็นเบิร์กพิมพ์ไบเบิลได้ ทำให้ยุโรปเรียกว่าปฏิวัติได้ทีเดียว เพราะการเข้าถึงพระเจ้าไม่ต้องผ่านบาทหลวงอีกต่อไป และจีนพิมพ์หนังสือก่อนหน้านั้นได้เป็นพันปี คิดดูว่าเขาจะก้าวหน้าไปขนาดไหน

          คนจีนโบราณที่ได้เรียนหนังสือจะเขียนหนังสือประโยคละ 4 คำ ภาษาที่พูดกับภาษาเขียนหนังสือก็ไม่เหมือนกัน คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะอ่านคำพูดของขุนนางที่พูด 4 คำไม่เข้าใจ ทำให้มีการเขียนอธิบายเป็นประโยคยาวหนึ่งเล่มขึ้นมาใหม่ อันเป็นที่มาก่อนเกิดซานกว๋อเอี่ยนอี้ของหลอก้วนจง

          อีกแง่นั้นหนึ่งชาวบ้านชอบเล่าเรื่องราวสามก๊ก บางทีเรื่องที่เล่าก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เช่น นิทานพื้นบ้านของขงเบ้งซึ่งสนุกมาก เขามีร้านน้ำชา เรียกกันว่า ฉาก่วน เหมือนคอฟฟีชอปบ้านเรา โดยแข่งกันเรียกลูกค้าด้วยศิลปินเล่าเรื่องสามก๊ก แต่ละคนก็มีลีลาต่างกัน เล่าทีละตอนทุกวันต่อเนื่อง วันนี้เล่าจบตอนนี้ อยากรู้เรื่องเป็นอย่างไรต่อไปก็ให้มาฟังต่อวันรุ่งขึ้น ทำให้คนอยากมาฟังต่อ จนกระทั่งมีผู้เรียบเรียงเป็นเล่มออกมา ถือเป็นคู่มืออาชีพนี้ไปด้วย

          หลอก้วนจงชอบสามก๊ก อาจารย์ของเขาคือคนที่เขียนเรื่องสุยหู่ เป็นเรื่องของกบฏรากหญ้าที่ต่อต้านขุนนางชั่วร้าย หลอก้วนจงเมื่อมาแต่งสามก๊กก็นำเอาสามสี่เล่มที่กล่าวมามาเรียบเรียงใหม่ หลังจากนั้นอีกร้อยปีต่อมา เหมาจ้งกังก็นำมาปรับปรุง แบ่งเป็นบทใหม่ เพิ่มเติมกวีเข้าไปในเรื่องถึงสองสามร้อยบท ถ้าสังเกตให้ดีในหนังสือตอนท้ายของบทที่เป็นภาษาจีนจะเขียนว่าให้มาฟังต่อ ไม่ใช้คำว่าอ่านต่อ เป็นการยืนยันว่าเรื่องสามก๊กของหลอก้วนจงนั้น มาจากหลาย ๆ เล่มที่เล่ามารวมกัน

          นอกจากเป็นหนังสือเขียนเพื่ออ่านแล้ว สามก๊กยังเกิดเป็นศิลปะอย่างอื่นขึ้นอีกมากมาย เช่นไทยเรานำมาเล่นเป็นละคร ในราชวงศ์หยวน ยุคสุโขทัย เกิดความนิยมดูงิ้ว งิ้วนั้นเอารากมาจากการแสดงของอินเดีย และ “ละคง” คือละครของไทย บทงิ้วได้สร้างสรรค์เอาศิลปินเล่าเรื่องปรับซานกว๋อจื้อให้ง่ายขึ้น คนที่อ่านแล้วก็นำไปฝึกเล่นเป็นงิ้วกัน และไทยเรายังมีเพลง เพลงไทยเดิมอย่างเพลงตับ ก็มีที่เกี่ยวกับสามก๊ก เช่น ตับจูล่ง วงลูกทุ่งลูกกรุงก็มีเพลงเกี่ยวกับสามก๊กมากมายเช่นกัน

          นอกจากนี้ ปัจจุบันสามก๊กยังมีรูปแบบที่เป็นการ์ตูน ภาพยนตร์ อีกหลายต่อหลายอย่าง แม้แต่ทางวาทกรรมก็มีด้วยเช่นกัน อย่างที่บอกว่า “อ่านสามก๊กสามจบคบไม่ได้” ในความเป็นจริงในภาษาจีนไม่มีคำกล่าวนี้ หรืออย่างคำกล่าวที่คุณทองแถม นาถจำนงคิดและเขียนขึ้นเองไว้ว่า “ยังไม่ได้อ่านสามก๊กอย่าคิดการใหญ่” จริง ๆ ไม่ใช่สุภาษิตจีนโบราณอะไร นี่ก็กลายเป็นวาทกรรมที่สวมรอยประวัติศาสตร์ไปเช่นกัน

          แม้แต่จีนเองก็มีกรณีแบบนี้เช่นกัน ในปี 2007 ภาพยนต์จีนเรื่องหนึ่งมีเพลงประกอบอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นคำฮิตติดปากชาวจีนไป คือคำว่า ปู้ซื่ออิงสยงปู้ตู๋ซานกว๋อ (不是英雄不讀三國) มิใช่วีรบุรุษ ไม่อ่านสามก๊ก หมายความว่า ต้องอ่านสามก๊กจึงจะเป็นวีรบุรุษ กลายเป็นวาทกรรมที่อยู่ในหัวชาวจีนมาตลอด เมื่อเกิดนวัตกรรมอยู่ตลอด สามก๊กจึงไม่ตายไปจากสังคม

          วรรณกรรมสามก๊กนอกจากเป็นหนึ่งในสี่ยอดวรรณกรรมเอกของจีนแล้ว ยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่หลายด้าน หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ทางการพิมพ์สู่สาธารณะชน การแสดงการละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน แม้แต่วาทกรรมทางภาษา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้จะกลายเป็นวรรณกรรมในดวงใจของผู้คนทั่วโลก 

 

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

สามก๊ก สำนวนพระยาพระคลัง(หน)ราชบัณฑิตยสภาชำระ

ประพันธ์โดย เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
ราคา 2,500.00 บาท 2250 บาท 

สามก๊ก ฉบับแปลใหม่

แปลโดย วรรณไว พัธโนทัย
ราคา 1,250.00 บาท 1125 บาท

พิชัยสงครามสามก๊ก

ประพันธ์โดย
ราคา 500.00 บาท 450 บาท 

สามก๊ก ฉบับภาพบุคคลพร้อมประวัติ

ประพันธ์โดย สุภาณี ปิยพสุนทรา
ราคา 180.00 บาท 162 บาท 

กลศึกพิสดารในสามก๊ก

ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี
ราคา 180.00 บาท 162 บาท

สามก๊ก ฉบับนำร่อง

ประพันธ์โดย วัชระ ชีวะโกเศรษฐ
ราคา 375.00 บาท 338 บาท 

ศิลปะการใช้กลยุทธ์ในสามก๊ก

ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี
ราคา 150.00 บาท 135 บาท 

บริหารงานด้วยกลยุทธ์สามก๊ก

ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี
ราคา 200.00 บาท 180 บาท 



บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Posts

Other Online Stores:

Lazada   Shoppee

บริษัท BOOK TIME จำกัด
Email: cs@booktime.co.th

เลขที่ 214 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 ถนนพระราม 2
แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02 415 2621, 02 415 6507
แฟกซ์. 02 416 7744