เทศกาลผี เดือน 7 - Book Time: be wise in time
บทความ

เทศกาลผี เดือน 7
16/8/2559 โดย บก. ขวัญ
แชร์: line

“อยากรู้เรื่องจีนนึกถึงสุขภาพใจ” สวัสดีครับ

เป็นอีกหนึ่งวันที่ตื่นมาเห็นหลายต่อหลายบ้าน จัดเตรียมตั้งโต๊ะวางของเซ่นไหว้กันอย่างคึกคัก สำหรับผู้ที่มีเชื้อสายจีนคงรู้จักหรือคุ้นเคยกับวันไหว้วันนี้เป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าอีกหลายคนคงงงและไม่รู้ว่าเขาไหว้อะไรกัน วันนี้ ผม บก. ขวัญ จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจีน ๆ ของวันนี้มาเล่าให้ฟังกันครับ

นอกจากวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ จะเป็นวันแห่งความรักของชาวจีนแล้ว ในเดือน 7 นี้ ยังมีเทศกาลที่สำคัญอีกหนึ่งเทศกาล เป็นเทศกาลที่มีความเกี่ยวของกับพุทธศาสนาและเกี่ยวพันถึงญาติพี่น้อง บรรพบุรุษบุพการีอีกด้วย

เทศกาลที่ผมกำลังกล่าวถึงนี้ ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน มีชื่อเรียกว่า เทศกาลชีเยวี่ยป้าน (七月半) แปลความตามอักษรว่า เทศกาลครึ่งเดือน 7 หรือถ้าจะเรียกอย่างปัญญาชนจีนแล้วก็ต้องเรียกว่า เทศกาลจงเหวียน (中元節) คือเทศกาลฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) ดังนั้น คนไทยจึงเห็นชื่อเทศกาลนี้ในหน้าปฏิทินสากลว่า วันสารทจีน  

แต่เดิมเทศกาลนี้เกิดขึ้นในศาสนาเต๋า (道教) จัดขึ้นเพื่อไหว้สักการะมหาราชตี้กวน (地官大帝) หนึ่งใน ตรีเทพพิทักษ์มหาราช (三官大帝) ที่มีวันคล้ายวันประสูตรในวันนี้ (วันที่ 15 เดือน 7) กล่าวกันว่าในวันนี้ พระองค์จะทำการอภัยโทษให้กับเหล่าดวงวิญญาณผีในนรก ประตูนรกจะเปิดออก เพื่อให้ดวงวิญญาณหรือภูตผีได้ขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ วิญญาณตนใดที่มีความแค้นก็จะได้มาสะสางกับคู่กรณี วิญญาณใดที่คิดถึงลูกหลานก็จะได้กลับมาเยี่ยมเยือนกัน ดังนั้น เทศกาลนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาลผี (鬼節)

ต่อมา ศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ประเพณีและวัฒนธรรมของสองศาสนาก็หลอมรวมกันเข้าอย่างกลมกลืน เทศกาลสารทจีนก็เช่นกัน ในศาสนาพุทธเรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลอุลลัมพน (Ullambana) เรียกแบบภาษาจีนทับศัพท์เสียงว่า อวี๋หลานเผินเจี๋ย (盂蘭盆節)

อวี๋หลาน 盂蘭 หมายถึง การแขวนห้อยหัว มีความหมายโดยนัยคือ ผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายหรือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ในที่นี้ก็คือวิญญาณผีในนรกภูมิ  

เผิน 盆 แปลตามศัพท์หมายถึง กระถาง หรือภาชนะที่คล้ายคลึงเช่นนั้น แต่ความหมายในที่นี้คือ สิ่งของสำหรับช่วยเหลือ

เจี๋ย 節 แปลว่า เทศกาล

เมื่อรวมความจึงได้ความหมายว่า เทศกาลที่ใช้สิ่งของช่วยเหลือ (วิญญาณ) ผู้ตกทุกข์ได้ยาก (อุลลัมพน เทียบคำบาลี-สันสกฤต อุลลุมปน ว่า ทำสิ่งที่คว่ำหรือห้อยให้ยกขึ้น)

และปรากฏเรื่องราวความเป็นมาของเทศกาลนี้ตามแบบศาสนาพุทธในพระสูตร อุลัมพนสูตร 《盂蘭盆經》 ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาโพธิสัตว์องค์หนึ่งนามว่า พระกษิติครรภธรณีโพธิสัตว์ (地藏菩薩) พระโพธิสัตว์ผู้ทรงโปรดสัตว์อยู่ในแดนนรก พระโพธิสัตว์องค์นี้ ในสมัยพระโคดมพุทธเจ้า พระองค์ก็คือ มู่เจียนเหลียน 目犍連 (พระมาลัย) หรือที่เรารู้จักกันในนาม พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก ในพระสูตรกล่าวว่า

“ครั้งหนึ่ง พระโมคคัลลานะปรารถนาจะทราบว่าโยมมารดาที่เพิ่งสิ้นอายุขัยไป ดวงวิญญาณจะเป็นเช่นไร จึงเข้าฌานสมาบัติ ก็รู้ได้ด้วยอภิญญาณว่า มารดาแห่งตนได้ไปเกิดในนรกภูมิอดอยากหิวโหย จึงใช้ฤทธิ์นำบาตรข้าวไปโปรดมารดา แต่ทว่ายังไม่ทันจะได้กิน ข้าวในบาตรก็กลายเป็นถ่านไฟไปสิ้น พระเถรเจ้าจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ‘ดูก่อนโมคคัลลานะ โยมมารดาของเธอมีบาปหนัก เกินกำลังฤทธิ์และบุญกุศลของเธอเพียงผู้เดียวจะช่วยได้ ต้องใช้บุญฤทธิ์ของสงฆ์จากทั่วทุกสารทิศประมวลกันเป็นมหากุศล จึงจะโปรดมารดาให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงในอบายได้ ตถาคตจะบอกวิธีให้ ในวัน 15 ค่ำกลางเดือน 7 อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา เพื่อโปรดบิดามารดาทั้ง 7 ชาติในอดีต และบิดามารดาในชาติปัจจุบัน ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง เธอจงจัดภัตตาหารหลากรส ผลไม้นานาชนิด น้ำปานะ ธูปเทียนแลเครื่องไทยทานใส่ภาชนะเป็นสังฆทานถวายแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศ ด้วยบุญฤทธิ์ที่พระสงฆ์ได้รักษาพรหมจรรย์มาครบถ้วน 1 พรรษา แลอานิสงฆ์แห่งสังฆทานนี้ บิดามารดาในชาติก่อน 7 ชาติ และบิดามารดาในชาตินี้ ตลอดจนวงศาคณาญาติจะพ้นจากอบายภูมิทั้งสาม (นรกภูมิ เปรตภูมิ และเดรัจฉานภูมิ) โดยพลัน หากบิดามารดาในชาตินี้ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเกษมสำราญอยู่ถึง 100 ปี และบิดามารดาในชาติก่อนทั้ง 7 ชาติ ก็จะกำเนิดในสรวงสวรรค์อันเรืองโรจน์’

พระโมคคัลลานะ จึงจัดการทำตามพุทธบรรหาร มารดาของพระโมคคัลลานเถระก็พ้นจากอบายภูมิ และทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า ‘ต่อไปภายหน้า หากลูกหลานผู้มีกตเวทิตาจิตปรารถนาช่วยบิดามารดาให้พ้นจากอบายแลทุกข์ภัย ก็ควรจัดสังฆทานอุลลัมพนบูชาเช่นนี้หรือพระเจ้าข้า’

พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า ‘สาธุ’”       

นี่จึงเป็นที่มาของเทศกาลอุลลัมพน ที่คนไทยรู้จักกันดีว่า เทศกาลงานเทกระจาด หรือ เทศกาลงานทิ้งกระจาด   

กิจกรรมในวันนี้ จะมีการไหว้พระสวดมนต์ เซ่นไหว้อาหาร และเผากระดาษเงินกระดาษทองให้กับผู้ล่วงลับ โดยการเซ่นไหว้ช่วงเช้า (ไม่เกินเที่ยงวัน) เป็นการไหว้บรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมลูกหลาน (ตรงข้ามกับเทศกาลเชงเม้ง 清明節 ที่ลูกหลานไปเยี่ยมไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน) และช่วงบ่ายเป็นการเซ่นไหว้วิญญาณผีที่ไม่มีญาติ หรือที่เรียกกันแบบสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า ฮอเฮียตี๋ (好兄弟) คือ สัมภเวสี 36 จำพวก อันได้แก่ สัมภเวสีในอากาศ 12 จำพวก สัมภเวสีบนบก 12 จำพวก และสัมภเวสีในน้ำอีก 12 จำพวก นอกจากนี้ ก็มีการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ให้กับผู้ยากไร้อีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่แฝงไว้ด้วยการทำทานและระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ แม้จะอยู่คนละโลก แต่ก็ยังมีใจที่สื่อถึงกันได้ ไม่เพียงกับญาติพี่น้องของตน แต่ยังเผื่อแผ่ให้กับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่ใช่ญาติได้ด้วย

เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะรู้จักเทศกาลในเดือน 7 ของจีนกันเพิ่มขึ้นใช่ไหมครับ ที่บ้านผมไหว้เทศกาลนี้ทุกปีเลย และเป็นที่น่าสังเกตครับว่า อาหารที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษของเรานั้น บางอย่างแม้ข้ามวันไปก็ยังพอเก็บหรือกินได้ ไม่เสีย แม้จะมีรสชาติที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่สำหรับอาหารที่ไหว้วิญญาณไร้ญาติจะบูดและเสียเร็วมาก และเป็นอย่างนี้ทุกปีเลย เคยลองสังเกตกันดูหรือไม่ครับ...

เรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของจีนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีเทศกาลอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ติดตามได้ใน ต้นกำเนิดชนชาติและประเพณีจีน โดย หลี่ เสี่ยวเซียง ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจครับ

สำหรับวันนี้ผมต้องขอตัวก่อน จะได้ไปเตรียมของไหว้ครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีเทศกาลผีเดือน 7 ครับ

 

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

ต้นกำเนิดชนชาติและประเพณีจีน 
ประพันธ์โดย หลี่ เสี่ยวเซียง
ราคา 200.00 บาท


บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Posts

Other Online Stores:

Lazada   Shoppee

บริษัท BOOK TIME จำกัด
Email: cs@booktime.co.th

เลขที่ 214 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 ถนนพระราม 2
แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02 415 2621, 02 415 6507
แฟกซ์. 02 416 7744