เบญจธาตุใน 5 ศาสนา - Book Time: be wise in time
บทความ

เบญจธาตุใน 5 ศาสนา
25/8/2559 โดย บก. ขวัญ
แชร์: line

วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริง ๆ เลยครับ แป๊บ ๆ ก็กลับมาพบกันอีกแล้ว

“อยากรู้เรื่องจีน นึกถึงสุขภาพใจ” สวัสดีครับ ผม บก. ขวัญ นำเรื่องดี ๆ มาฝากกันอีกเช่นเคย

ทุกท่านเคยได้ยินคำว่า “เบญจธาตุ” กันบ้างหรือไม่ครับ ถ้าจะแปลไทยเป็นไทยก็คือ ธาตุทั้ง 5 หลายคนคงร้องอ๋อ แต่อีกหลายคนก็คงสงสัยว่าคืออะไร รู้จักแต่ 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เป็นไรครับ วันนี้ ผมมีเรื่องของ เบญจธาตุ กับ ศาสนาทั้ง 5 มาฝากกัน ว่าเบญจธาตุคืออะไร และศาสนาทั้ง 5 มีอะไรบ้าง ส่วนจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น ติดตามต่อได้เลยครับ

 

เบญจธาตุ (五行) คือ ธาตุทั้ง 5 ที่ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ และธาตุทอง แต่เดิมหลักของเบญจธาตุนั้น ปรากฏขึ้นตามหลักทรรศนคติของศาสนาปราชญ์ (道學) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ลัทธิขงจื่อ ที่ใช้อธิบายถึงระบบของการก่อเกิดและลบล้างกันของสรรพสิ่ง เมื่อฟ้าและดินก่อเกิดแล้ว พลังของทั้งสองที่หมุนเวียนกันก็ก่อให้เกิดระบบของธาตุทั้ง 5 อันได้แก่

1. ธาตุดิน (土) ธาตุประจำตำแหน่งตรงกลาง มีสีเหลืองเป็นสีประจำธาตุ หมายถึงสภาวะก่อเกิด แสดงถึงความกลมกลืน การรองรับ ความสุขุมนักแน่น เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การเกษตร เป็นธาตุที่ทำให้เกิดธาตุทอง และเป็นธาตุที่ต้านหรือทำลายธาตุน้ำ

2. ธาตุทอง (金) ธาตุประจำทิศตะวันตก ฤดูใบไม้ร่วง มีสีขาวเป็นสีประจำธาตุ หมายถึงการหดหรือเลือนหาย วาสนา โชคลาภ บารมี เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นธาตุที่ทำให้เกิดธาตุน้ำ และเป็นธาตุที่ต้านหรือทำลายธาตุไม้   

3. ธาตุน้ำ (水) ธาตุประจำทิศเหนือ ฤดูหนาว มีสีดำเป็นสีประจำธาตุ หมายถึงความชุ่มชื้น การเคลื่อน การแปรเปลี่ยน ความฉลาดและปัญญา เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การค้า เป็นธาตุที่ทำให้เกิดธาตุไม้ และเป็นธาตุที่ต้านหรือทำลายธาตุไฟ

4. ธาตุไม้ (木) ธาตุประจำทิศตะวันออก ฤดูใบไม้ผลิ มีสีเขียวเป็นสีประจำธาตุ หมายถึงการเกาะเกี่ยว การเจริญเติบโต ความรุ่งเรือง การแผ่ขยาย เกี่ยวข้องกับคุณธรรม เป็นธาตุที่ทำให้เกิดธาตุไฟ และเป็นธาตุที่ต้านหรือทำลายธาตุดิน

5. ธาตุไฟ (火) ธาตุประจำทิศใต้ ฤดูร้อน มีสีแดงเป็นสีประจำธาตุ หมายถึงความร้อน พลังงาน ความกระตือรือร้น เกี่ยวข้องกับอำนาจ ชื่อเสียง การต่อสู้ เป็นธาตุที่ทำให้เกิดธาตุดิน และเป็นธาตุที่ต้านหรือทำลายธาตุทอง

เมื่อธาตุทั้ง 5 อยู่ในสภาวะที่สมดุล ก็จะเกิดคุณประโยชน์หลาย ๆ ด้าน หลักการและความหมายของธาตุทั้ง 5 นี้ ได้รับการยอมรับเรื่อยมาแต่โบราณ จนถูกนำไปใช้ในศาสตร์หลายแขนง เช่น วิชาฮวงจุ้ย (風水 ความรู้เรื่องพลังงานของธรรมชาติ) โหราศาสตร์ วิชาแพทย์แผนจีน ตลอดจนการบริหารในด้านต่าง ๆ อย่างการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (พิเคราะห์บุคคล) หรือแม้แต่การออกแบบแบรนด์โลโกของห้างร้านต่าง ๆ ก็ล้วนนำเรื่องของเบญจธาตุนี้ไปใช้ทั้งสิ้น และไม่เพียงเท่านี้ เบญจธาตุยังเกี่ยวพันกับศาสนาทั้ง 5 ของโลกอีกด้วย

โลกเรามีศาสนาอยู่มากมาย บางศาสนาก็สูญหายไปจากโลกแล้ว บางศาสนาก็กำลังจะถูกลืมเลือน และหลายศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งศาสนาทั้ง 5 ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นศาสนาที่ยังมีผู้นับถือกันอยู่ อีกทั้งมีความเกี่ยวพันกับตะวันออกและทวีปเอเชียของเรา และแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับเบญจธาตุ

ศาสนาทั้ง 5 นั้นก็คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาเต๋า และศาสนาปราชญ์ เรามาดูกันว่าเบญจธาตุเกี่ยวข้องกับศาสนาทั้ง 5 นี้อย่างไร เริ่มที่

ศาสนาคริสต์ ศาสนาที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง มีพระเยซูเป็นพระศาสดา เป็นศาสนาแห่งความรัก หลักคำสอนสอนให้ไม่ทำบาป (บาปทั้ง 7 ประการ) เคารพรักในพระเจ้า ครอบครัว และเพื่อมนุษย์ทั้งมวล ไม่เลือกที่รักมังที่ชัง ดุจเถาไม้เกี่ยวกระหวัดรัดพันกับต้นไม้อื่น ที่ไม่ว่าสูงหรือต่ำ สวยหรือไม่สวย ก็ไม่เลือกที่จะเกาะ นอกจากนี้ ไม้และเถาไม้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์มาก อย่างสัญลักษณ์แห่งศาสนาคือ ไม้กางเขน ศีรษะของพระเยซูถูกทรมานด้วยเถามงกุฎหนาม หรือในตอนที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน ทหารก็ใช้หอก (Lance of Longinus หอกแห่งลองจินัส) แทงพระองค์เพื่อตรวจสอบดูว่าสิ้นพระชนม์หรือยัง ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับไม้ทั้งสิ้น ดังนั้น ธาตุประจำศาสนาคริสต์ก็คือ ธาตุไม้  

ศาสนาอิสลาม ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันตก มีพระมุฮัมหมัดเป็นพระศาสดา เป็นศาสนาแห่งความศรัทธา ยึดมั่นและเคารพเทิดทูนในพระอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อความถูกต้อง (ปฏิญาณตน) ต่อพระเป็นเจ้าอย่างจริงใจ แม้จะต้องสู้รบเพื่อความถูกต้องก็ตาม จึงทำให้เราได้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ถึงสงครามศาสนาของศาสนาอิสลามอยู่บ่อยครั้ง (ความจริงศาสนาไม่ได้สอนให้ทำสงคราม แต่ให้รักความสงบ ผู้ที่นับถือศาสนาบางกลุ่มต่างหากที่บิดเบือนทำให้เกิดเป็นไปเช่นนั้น ผมจึงขอละไว้เป็นที่พอเข้าใจครับ) ดังนั้น ธาตุประจำศาสนาอิสลามก็คือ ธาตุไฟ  

ศาสนาพุทธ ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันออก มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ บำเพ็ญ ทำความดีละเว้นความชั่วทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทุกสิ่งล้วนมีเหตุมีผลจากกรรม (การกระทำ) จึงต้องกล่อมเกลาขับเคี่ยวตนให้พ้นไกลจากกิเลสตามหลักคำสอน ดุจการหลอมทองคำให้บริสุทธิ์ และหากศึกษาดูถึงประวัติความเป็นมาของพระศาสดาแต่ละพระองค์ ส่วนใหญ่ล้วนสืบเชื้อสายมาจากวรรณกษัตริย์ (ที่มาจากวรรณพราหมณ์ก็มีอยู่บ้าง) ในสมัยโบราณ ทองคำ เป็นแร่ที่สงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิ์ได้นำไปทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยหรือเครื่องประดับเลย นอกจากนี้ หากสังเกตดูพระปฏิมาแห่งศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ล้วนทำด้วยทองหรือโลหะที่มีส่วนผสมของทอง ดังนั้น ธาตุประจำศาสนาพุทธก็คือ ธาตุทอง

ศาสนาเต๋า ศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศจีน มีเหลาจื่อ (老子) เป็นศาสดา เป็นศาสนาที่สอนให้กลมกลืนกับธรรมชาติ สงบ ไม่วุ่นวาย แฝงเร้น ปลีกวิเวก สังเกตได้ว่า นักบวชหรือที่เรียกว่า นักพรต ในศาสนานี้ มักอาศัยอยู่ตามป่า เขา ถ้ำ ลำธาร บำเพ็ญพรตอย่างใจเย็น เพื่อการบรรลุเป็นเซียน คำสอนของเหลาจื่อมักอ้างเปรียบกับน้ำ และสัญลักษณ์ประจำศาสนา คือ สภาวะอิน-หยาง มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า เหมือนรูปปลา 2 ตัว คือ ปลาขาวตาดำกับปลาดำตาขาวว่ายสวนกัน ซึ่งปลาก็เป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ พิธีกรรมในศาสนาเต๋าส่วนมาก มักมีเรื่องของบทสวด อาคมและมนตร์คาถาเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ล้วนต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบในพิธี ดังนั้น ธาตุประจำศาสนาเต๋าก็คือ ธาตุน้ำ 

ศาสนาปราชญ์ ศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศจีน มีขงจื่อ (孔子) หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า Confucius เป็นศาสดา เป็นศาสนาแห่งจารีต ประเพณี มั่นคงและซื่อตรงต่อคุณธรรม ยึดในหลักคุณสัมพันธ์ 5 สอนให้รู้จักยอมรับอดทนอย่างสุภาพอ่อนน้อมในคำตำหนิของผู้อื่น นำมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน เพื่อให้สังคมเกิดสันติภาพปรองดอง ดุจดินที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ปริปากบน ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามครรลอง (เที่ยงตรงถูกหลักเหมือนดินที่โอบอุ้มและปลูกสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น) นอกจากนี้ ศาสนาปราชญ์เป็นศาสนาที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาก ไม่ว่าจะเป็นพิธีการต่าง ๆ อย่าง พิธีไหว้ฟ้าดิน พิธีไว้ทุกข์ การระบำขับร้อง การเรียนรู้มารยาท ก็ล้วนเคร่งครัด และพิธีกรรมทั้งหลายล้วนต้องอาศัยหรือประกอบบนพื้นดิน ดังนั้น ธาตุประจำศาสนาปราชญ์จึงเป็น ธาตุดิน

จึงกล่าวได้ว่า เบญจธาตุกับศาสนาทั้ง 5 ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ไม่ว่าธาตุใดศาสนาใด ก็ล้วนหนุนส่ง เสริมให้สังคมและความเป็นไปของธรรมชาติคงอยู่อย่างเจริญ สมดุล และถูกต้องทั้งสิ้น เมื่อธาตุทั้ง 5 สมดุล ธรรมชาติและสภาพสังคมก็สงบสุข เมื่อศาสนาทั้ง 5 สมดุล สันติภาพก็บังเกิด

เป็นอย่างไรครับ เรื่องที่ผมนำมาฝากวันนี้ คงพอทำให้รู้จักเบญจธาตุและความเกี่ยวข้องกับศาสนาทั้ง 5 บ้างใช่ไหมครับ และไม่เพียงเท่านี้ ในศาสนาแห่งธาตุดินอย่างศาสนาปราชญ์นั้น ยังมีข้อคิดและปรัชญาอีกมากที่ทำให้เราเข้าใจถึงสภาวะของดิน ที่ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่น สมานกลมเกลียวกันในสังคมได้ จนมีคนกล่าวว่า เป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ที่มีแต่การแก่งแย่งช่วงชิงกันยิ่ง จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมศาสนานี้จึงยังคงอยู่และมีผู้ที่ให้ความสนใจศึกษาเพิ่มขึ้นจากทั่วโลก ผู้ที่สนใจข้อคิดและปรัชญาของศาสนาแห่งจารีตและนักปราชญ์นี้ ติดตามเพิ่มเติมได้ใน ขงจื่อกล่าวว่า โดย บุญศักดิ์ แสงระวี ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

สำหรับวันนี้ผมต้องลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ครับ...

 

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

ขงจื่อกล่าวว่า 
ประพันธ์โดย บุญศักดิ์ แสงระวี
ราคา 200.00 บาท


บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Posts

Other Online Stores:

Lazada   Shoppee

บริษัท BOOK TIME จำกัด
Email: cs@booktime.co.th

เลขที่ 214 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 ถนนพระราม 2
แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02 415 2621, 02 415 6507
แฟกซ์. 02 416 7744