煮豆燃豆萁 เถาถั่วเผาต้มถั่ว
都在釜中泣 ร่ำระรัวถั่วในกระทะ
本是同根生 ร่วมรากเกิดแล้วจะ
相煎何太急 เร่งโรมรันกันทำไม
(ถอดความภาษาไทยโดย โชติช่วง นาดอน)
สวัสดีครับ ผม บก. ขวัญมาแล้ว วันนี้นึกถึงกลอนอมตะบทนี้ขึ้นมา ก็ทำให้ได้คิดไปหลายเรื่องหลายอย่าง สิ่งแรกที่คิดได้คิด กลอนบทนี้มีความไพเราะยิ่ง ใช้คำที่เป็นสัญลักษณ์ได้ดี ที่สำคัญแต่งได้เสร็จภายในการก้าวเท้าเพียง 7 ก้าว ! สิ่งที่สองที่คิดได้คือ ความเป็นพี่น้องญาติมิตร สายเลือดย่อมข้นกว่าน้ำอย่างที่เขาว่าจริง ๆ และสิ่งที่สามที่คิดได้คือ คนเราแม้จะมีความสามารถเพียงใด แต่ถ้าหากเหนือหัว ผู้นำ หรือผู้บัญชาไม่รู้จักช่วงใช้ เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ กำกัดขีดให้อยู่ในกรอบ ก็คงมีชีวิตที่ไม่ต่างขากผู้ประพันธ์กลอนอันไพเราะบทนี้... ว่าแต่ผู้แต่งกลอนบทนี้เป็นใคร วันนี้ผมขอแนะนำให้รู้จักกันครับ
ผู้ประพันธ์กลอนที่กล่าวถึงนี้ นามว่า โจสิด 曹植 จีนกลางอ่าน เฉาจวื๋อ (ค.ศ. 192-232) มีนามรองว่า จื่อเจี้ยน 子建 เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าอู่หวางตี้ 武皇帝 หรือที่คนอ่านสามก๊กรู้จักกันในนามโจโฉ 曹操 แห่งสมัยสามก๊ก เขามีความเก่งกาจด้านการประพันธ์โคลงกลอน อายุแค่ 10 ขวบ ก็ท่องจำวรรณคดีได้นับแสนคำ ถือเป็นนักกวีแห่งยุคผู้หนึ่ง
แต่น่าเสียดายที่โจสิดผู้นี้ ไม่ได้ใช้ความสามารถที่ตนมีทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองเลย เพราะถูกผู้เป็นพี่ชาย โจผี曹丕 กลั่นแกล้งอยู่เรื่อยมา เหตุเกิดจาก โจโฉต้องการแต่งตั้งรัชทายาท แต่ชั่งใจอยู่ระหว่างโจผีคนโตกับโจสิดน้องสาม ความจริงในใจของโจโฉรักและชมชอบโจสิดมากกว่า แต่ขณะนั้นขุนนางคนสำคัญอย่างกาเซี่ยง 賈詡 ก็อยู่ข้างโจผีทั้งสิ้น ล้วนช่วยกันเป่าหูโจโฉให้เปลี่ยนใจ ประกอบกับการทำอุบายใส่ร้ายโจสิดนานา อย่างครั้งหนึ่ง โจโฉใช้ให้โจสิดไปการศึกช่วยแม่ทัพโจหยิน แต่ในคืนนั้น โจผีก็ให้คนจัดอาหารและสุราไปเลี้ยงส่งน้องชาย มอมเหล้าจนโจสิดไม่ได้สติ ประกอบกับนิสัยโจสิด ที่รักความสำราญ ชอบเมามาย ทำให้ราชการต้องเสียไป ในที่สุด โจโฉก็ตัดสินใจตั้งโจผีเป็นรัชทายาทแทน
ค.ศ. 220 โจโฉเสียชีวิต โจผีได้ดำรงตำแหน่งวุยอ๋องแทน และไม่นานก็ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้แทนด้วยการถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั้งนามราชวงศ์ว่า วุย ก็ยิ่งทำให้โจผียิ่งอยากกำจัดโจสิดไปให้พ้นหูพ้นตา จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับกลอนข้างต้นคือ วันหนึ่ง โจผีเรียกโจสิดเข้าเฝ้า เพื่อหาเรื่องสังหาร ก็กล่าวกับโจสิดเป็นทำนองว่า โจสิดเก่งเชิงกาพย์กลอนเห็นจะเป็นการกล่าวเกินจริง ถ้าอย่างไรก็ลองแต่งกลอนให้เสร็จหนึ่งบทภายใน 7 ก้าว โดยในกลอนให้พูดถึงความเป็นพี่น้องกันของทั้งสอง แต่ในกลอนห้ามมีคำว่า “พี่น้อง” เป็นอันขาด ถ้าทำได้ก็จะยกโทษให้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ ตาย !
โจสิดไม่ได้ตระหนดตกใจแต่อย่างใด ลุกขึ้น เดินไปแต่งกลอนไปได้สำเร็จลงที่ 7 ก้าวพอดี ใช้ถั่วที่มีรากเกิดร่วมต้นกันมาแสดงถึงความเป็นพี่น้อง ขณะเดียวกันก็เสียดสีโจผีไปในตัวด้วยท่อนที่ว่า “ร่วมรากเกิดแล้วจะ เร่งโรมรันกันทำไม” โจผีพอได้ฟังก็น้ำตานองหน้าละอายพระทัยยิ่งนัก ประกอบกับพระมารดา พระนางเปียนซี 卞皇后 ขอร้องไว้ เห็นความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ข้นกว่าน้ำ จึงเว้นโทษตายให้น้อง แต่ลดราชศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองอันเหียง ไม่มีสิทธิ์เข้าเฝ้าหากไม่มีรับสั่ง เป็นการลิดรอนสิทธิ์ทางการเมือง
เมื่อโจผีสวรรคต โจยอย曹叡 พระโอรสสืบราชสมบัติ โจสิดมีชีวิตอยู่ใน 2 รัชสมัยนี้ 11 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากยากแค้น ถูกเปลี่ยนราชศักดิ์ 6 ครั้ง ย้ายเมืองให้กิน 3 แห่ง ถูกจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ถึงกับเขียนในกลอนของตนบทหนึ่งว่า “เปลี่ยนศักดิ์ 6 ครั้ง ย้ายรัง 3 หน มิพ้นดานดิน กินอยู่ขัดสน” แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นขอรับราชการสร้างความดีความชอบ แต่ไม่สมหวัง ปี ค.ศ. 232 วันที่ 27 เดือน 12 โจสิดจากโลกนี้ไปด้วยอาการ “เศร้าหมอง” รวมอายุได้ 40 ปี
ผู้มีความสามารถแต่ก็ต้องจากไปโดยไม่ได้ทำอะไรตามที่ใจปรารถนา ช่างน่าเศร้าใช่ไหมครับ นี่เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งใน สามก๊ก ผมเชื่อว่าแค่ตัวเดียวที่อ่านมา ก็มีสีสันของชีวิตความเป็นคนอยู่มากแล้ว และหากยิ่งได้อ่านตัวละครอื่น ๆ จะรับรู้ได้ถึงภาพสะท้อนของชีวิตเพียงใด ก็ลองติดตามกันได้ใน สามก๊ก ฉบับภาพบุคคลพร้อมประวัติ โดย สุภาณี ปิยพสุนทรา ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำและสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ผมแถมคลิปจาก Youtube เป็นกลอนของโจสิดบทที่กล่าวมา ในท่วงทำนองที่ไพเราะมาก ๆ ของคุณกู่เจี้ยนเฟินครับ
และอย่าลืม อยากรู้เรื่องจีน นึกถึงสุขภาพใจ นะครับ ^^
หนังสือที่เกี่ยวข้อง
![]() |
สามก๊ก ฉบับภาพบุคคลพร้อมประวัติ ประพันธ์โดย สุภาณี ปิยพสุนทรา ราคา 180.00 บาท |