การแก่ตัวลงของร่างกายคืออะไรกันนะ?
.
ลองนึกภาพดูนะครับว่า พอ “แก่ตัวลง” จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับร่างกายบ้างจะมีพวก
- รอยเหี่ยวย่น
- ฝ้า กระ
- ผมหงอก
- ผมร่วง
- สายตายาว
- อาการหูตึง
- อาการหลงลืม
- กระดูกหัก
- ปวดตามข้อ
เกิดขึ้นหรือเปล่า?
ผมได้ลองสรุปการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในร่างกายของผู้สูงอายุออกมาเป็นภาพแล้ว โดยหลัก ๆ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เลย พอแก่ตัวลง สิ่งมีชีวิต (ที่เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ด้วย) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คล้าย ๆ กัน การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่แสดงตามภาพ บ่งชี้ว่า การทำงานของโครงสร้างในแต่ละส่วนจะลดต่ำลง กล่าวได้ว่า การเกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นกระบวนการยาวนานที่ทำให้ “ตายง่ายขึ้น” ซึ่งตรงกับที่ผมกล่าวไว้ในบทก่อนหน้าว่า “ความชราช่วยให้ตายง่ายขึ้น” ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแสดงออกมาในหลายรูปแบบ แต่มีลักษณะร่วมกันอยู่ สิ่งนั้นคือ “การลดลง” นั่นเอง การลดลงที่ว่าก็อย่างเช่น
- ผิวหนังที่บางลงทำให้ไม่ยืดหยุ่น
- รอยเหี่ยวย่นที่เพิ่มขึ้น
- กระดูกหรือกระดูกอ่อนตรงข้อต่อและกล้ามเนื้อที่หดเล็กลง
- แตกหักได้ง่ายขึ้น
- เดินเหินลำบาก
- จำนวนเซลล์ประสาทที่น้อยลง
- สมองหดเล็กลง
- หลง ๆ ลืม ๆ หรือทรงตัวได้ไม่ดี
- ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน และสาเหตุที่พอแก่ชราแล้ว ร่างกายหดเล็กลงก็เพราะเซลล์และส่วนประกอบสำคัญโดยรอบเซลล์ลดน้อยลงไปนั่นเอง เซลล์จะเพิ่มขึ้นได้ต่อเมื่อเซลล์ต้นกำเนิดเกิดการแบ่งตัว และพอถึงอายุขัย เซลล์ก็จะตายไป ว่ากันว่าในทุก ๆ วัน จะมีเซลล์เกิดใหม่ถึง 300,000,000 เซลล์และมีเซลล์อีก 300,000,000 เซลล์ที่ตายไป ซึ่งพอรักษาสมดุลนี้ไว้ได้ มองเผิน ๆ เหมือนปริมาณเซลล์ในร่างกายโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนไป (ประมาณ 37 ล้านล้านเซลล์) เม็ดเลือดแดงในเลือดถูกสร้างขึ้นโดยไขกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกมีอายุประมาณ 120 วัน และจะถูกทำลายโดยม้ามในท้ายที่สุด หาก “การสร้าง” และ “การทำลาย” นี้เสียสมดุล และเกิด “การทำลาย” ที่มากเกินขึ้นมา ปริมาณเซลล์จะลดลง ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดกับทุกเซลล์โครงสร้างในร่างกายทั้งหมด 270 ชนิดเลยทีเดียว อีกทั้ง “เนื้อเยื่อระหว่างเซลล์” (Interstitium) จะสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
ซึ่งความสมบูรณ์ของช่องว่างระหว่างเซลล์ดังกล่าวนี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น และเฉกเช่นเดียวกับตัวเซลล์ เมื่อความสมดุลระหว่าง “การสร้าง” และ “การทำลาย” สูญเสียไปจนเกิด “การทำลาย” ที่มากกว่า “การสร้าง” ความสมบูรณ์ของช่องว่างระหว่างเซลล์ก็จะลดน้อยลงไปด้วย พอกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน อวัยวะภายในร่างกายจึงหดตัวลง เนื่องจากปริมาณของเซลล์และความสมบูรณ์ของช่องว่างระหว่างเซลล์ที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายหดเล็กลงตามไปด้วย
--------------------------------------------------------